วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ผ้าขาวม้า





'
ผ้าขาวม้า' ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นภาษาเปอร์เซีย ที่มีคำเต็มว่า 'กามาร์ บันด์' (Kamar band) กามาร์ หมายถึง เอว หรือท่อนล่างของร่างกาย ส่วน บันด์ แปลว่า พัน รัด หรือคาด เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกัน จึงหมายถึงเข็มขัด ผ้าพัน ทั้งนี้ งานวิจัยเรื่องผ้าขาวม้า ของ รศ.ดร.อาภรณ์พันธ์ จันทร์สว่าง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายไว้ว่า ผ้าขาวม้า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า 'กามา' (Kamar) ซึ่งเป็นภาษาอิหร่านที่นอกจากใช้ในประเทศอิหร่านแล้ว ยังใช้กันในประเทศสเปนด้วย เข้าใจว่าสเปนรับคำว่ากามาจากอิหร่านไปใช้ เพราะในประวัติศาสตร์ประเทศทั้งสองสัมพันธ์ติดต่อกันมาช้านาน



จากรากฐานของข้อมูล แสดงให้เห็นว่าผ้าขาวม้าเป็นผ้าโบราณที่ใช้ประโยชน์กันมานานแล้ว สำหรับคนไทยรู้จักใช้ผ้าขาวม้าตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ถ้านับเวลาย้อนไป จะตรงกับยุคสมัยเชียงแสน ในสมัยเชียงแสนผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ส่วนผู้ชายเริ่มใช้ผ้าเคียนเอว คือผ้าคาดเอว (ผ้าขาวม้า) ซึ่งได้วัฒนธรรมมาจากไทยใหญ่ (ไทยใหญ่ใช้โพกศีรษะ) ส่วนไทยเรายังมุ่นมวยผมอยู่ เมื่อเห็นประโยชน์ของผ้าจึงนำมาใช้บ้าง แต่เปลี่ยนมาเป็นผ้าเคียนเอว เมื่อเดินทางไกลจึงนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก และก็ให้ประโยชน์มาก เช่น ใช้ห่ออาวุธหรือเก็บสัมภาระในการเดินทาง ปูนอน นุ่งอาบน้ำ เป็นผ้าเช็ดร่างกาย และเมื่อไทยใหญ่เห็นประโยชน์ของการใช้ผ้าดังกล่าว จึงนอกจากโพกศีรษะ ก็ได้นำมาเคียนเอวบ้าง

หลักฐานที่แสดงว่าคนไทยเริ่มใช้ผ้าขาวม้าในสมัยเชียงแสน มีปรากฏให้เห็นจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน และเมื่อดูการแต่งกายของหญิง-ชายไทยในสมัยอยุธยาจากภาพเขียนในสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 จะเห็นชาวอโยธยานิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดพุง หรือนุ่งโจงกระเบนแล้วใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอตลบห้อยชายทั้งสองข้างไว้ด้านหลัง ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ ความนิยมใช้ประโยชน์ไม่จำกัดแต่เพียงเพศชายเหมือนในอดีต และไม่จำกัดเฉพาะทำเป็นเครื่องตกแต่งร่างกาย


ผ้าขาวม้าเป็นอาภรณ์อเนกประสงค์ มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ทอมาจากฝ้าย แต่ก็มีที่ทอจากเส้นไหมด้วยเช่นกัน หรือบางท้องถิ่นทอจากเส้นด้ายดิบและเส้นป่าน นิยมทอสลับสีเป็นลายตาหมากรุก หรือเป็นลายทาง โดยมากผลิตในแถบภาคเหนือหรือภาคอีสาน มีขนาดโดยทั่วไปกว้างประมาณ 3 คืบ ยาว 5 คืบ สำหรับราคาจะแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้ (ถ้าเป็นผ้าไหมเนื้อดีจะมีราคาแพง นิยมใช้แตะพาดบ่าหรือพาดไหล่)

ผ้าขาวม้าอยู่คู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย แม้โดยประวัติผ้าขาวม้าอาจไม่ใช่ผ้าของคนไทย แต่ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 900 ปีที่ผ่านไป ผ้าขาวม้าจัดเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ของไทยอย่างแท้จริง เพราะอย่างน้อยด้วยรูปลักษณ์และลวดลายที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องได้รวมไว้ทั้งศาสตร์แห่งสีสันและศิลป์แห่งลายผ้าไทยที่นำมาผสมผสานอย่างกลมกลืน อำนวยความสะดวกให้กับคนไทยมาหลายศตวรรษ โดยไม่มีทีท่าว่าจะสูญหายไปง่ายๆ เกี่ยวข้องกับวิถีดำรงชีวิตมากมายหลายอย่าง นับสิ่งมหัศจรรย์แห่งสายใยที่ถักทอไว้อย่างประณีต จากตำนานกาลเวลา และคุณค่าอันน่ายกย่อง สรุปได้ว่าประโยชน์ของผ้าขาวม้าใช้กันตั้งแต่เกิดจนตาย

ประโยชน์ของผ้าขาวม้าที่รวบรวมไว้ 1.นุ่งอาบน้ำ 2.ใช้เช็ดทำความสะอาดร่างกาย 3.ซับเหงื่อ 4.ปูรองนั่ง-นอน 5.โพกศีรษะ 6.ผูกทำเปล 7.นุ่งอยู่บ้านแทนกางเกง 8.คาดเอว 9.ห่ม-คลุมกาย 10.ใช้ห่อของแทนย่าม 11.ใช้ปัดฝุ่น ปัดยุง 12.ใช้มัดแทนเชือก 13.ม้วนหนุนแทนหมอน 14.บังแดด-ฝน-ลม 15.ใช้เช็ดทำความสะอาดสิ่งของ 16.ใช้เช็ดตัว 17.ทำผ้าขี้ริ้ว-ผ้าเช็ดเท้า (เมื่อหมดสภาพ) 18.ใช้โบกแทนพัด 19.ใช้แทนผ้าพันแผล 20.ทำผ้ากันเปื้อน 21.คลุมโต๊ะ 22.ผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง 23.ผ้าอ้อมสำหรับเด็ก เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูล http://www.khaosod.co.th/rupaimode/category

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น