วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมื่อถูก 'ตะขาบ' กัดต้องทำอย่างไร

เมื่อถูก 'ตะขาบ' กัดต้องทำอย่างไร

ฤดูฝน ฝนตกน้ำท่วม ใช่ว่าคนเท่านั้นที่ต้องหาพื้นแห้งๆ อยู่เพื่อความปลอดภัย สัตว์มีพิษอย่าง 'ตะขาบ' ก็เช่นกัน แม้ในยามปกติมันจะซ่อนตัวอยู่ใต้ก้อนหิน บริเวณที่มีสภาพเย็นชื้น แล้วออกหาแมลงกินในตอนกลางคืน แต่เมื่อน้ำเอ่อท่วม ตะขาบก็ต้องหนีน้ำขึ้นมาเป็นธรรมดา หลายๆ คน จึงมักได้เห็นตะขาบกันได้บ่อยในช่วงนี้

ทว่าบังเอิญถูกตะขาบกัดเข้าก็ต้องปฐมพยาบาล เนื่องจากพิษของตะขาบจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดนั้นบวมแดง รู้สึกปวด และอาจชา บางคนหากแพ้พิษมากยังจะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และซึมลง แต่พิษของตะขาบในบ้านเรามักไม่สามารถทำให้เสียชีวิตได้โดยตรง

พิษของตะขาบประกอบด้วยสารก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย ได้แก่ 5 hydroxytryptamine หรือ cytolysin ทำให้เกิดอาการบวม ปวด แดง ร้อน หากบวมมาก เช่น ที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้าอาจกดเส้นเลือด ทำให้นิ้วขาดเลือดมาเลี้ยงจนกระทั่งนิ้วดำ เนื้อตาย ต้องตัดทิ้งได้

โดยทั่วไปพิษตะขายไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามมีรายงานการเสียชีวิตในเด็กหญิงฟิลิปปินส์อายุ 7 ปี 1 ราย ที่ถูกตะขาบพันธุ์ Scolopendra subspinipes ขนาดยาว 23 เซนติเมตรกัดที่บริเวณศีรษะ

วิธีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น หากถูกกัดบริเวณแขนและขา พยายามห้อยส่วนดังกล่าวให้อยู่ต่ำ กรณีโดนกัดที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า แนะนำให้หาเชือกหรือผ้ามารัดที่ข้อนิ้วเอาไว้ เป็นการป้องกันพิษกระจายตัว

จากนั้นให้เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยน้ำด่างทับทิมช่วยฆ่าเชื้อโรค ตามด้วยการประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัดเพื่อลดปวดบวม และกินยาแก้ปวด

ขณะที่การปฐมพยาบาลแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการแนะนำให้แช่แผลที่ถูกกัดลงในน้ำส้มสายชู หรือใช้ยางมะละกอดิบป้ายแผลจะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้

อย่างไรก็ตาม หลังดูแลแผลเพื่อลดความเจ็บปวดแล้ว ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาทันที บางรายที่ปล่อยไว้ อาจเสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อ ปวดบวมมีหนอง เนื้อตายจนต้องตัดเฉือนทิ้ง

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/situations/25091

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น