วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฉลอง 200 ปี เมืองเขมราษฎร์ธานี ปี 2557

"ต้นตำรับรำตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์น้ำใจงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลายหลาก กล้วยตากรสดี ประเพณีแห่เทียนพรรษา แข่งนาวาสองฝั่งโขง"


  ประวัติและความเป็นมา อำเภอเขมราฐ เดิมมีฐานะเป็นเมือง และเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ เพราะเป็นเมืองที่เทียบได้กับหัวเมืองเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร มิได้ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานีเช่นเมืองอื่นๆ และ เมืองเขมราฐ ยังมีเมืองขึ้นอีกหลายเมือง เช่น เมืองอำนาจเจริญ เมืองคำเขื่อนแก้วเป็นต้น

  การตั้งเมืองเขมราฐ ปรากฏเอกสารที่เป็นหลักฐานว่าในปี พ.ศ. 2357 ซึ่งเป็นปีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าตั้งเมืองยโสธรขึ้น อุปฮาด (ก่ำ) ซึ่งเป็นอุปฮาดเมืองอุบลราชธานี ไม่พอใจที่ทำราชการกับพระพรหมราชวงศา (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 จึงอพยพไพล่พลไปหาทำเลที่เหมาะสมตั้งเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการสนองพระบรม ราโชบายในการตั้งเมืองขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลานั้นๆ ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านโคกกงพะเนียง ขึ้นเป็นเมืองเขมราฐธานีขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2357 พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อุปฮาด (ก่ำ) เป็นพระเจ้าเทพวงศาเมืองตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองเขมราฐ มีความสำคัญ และขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครตลอดมา


          ถึง พ.ศ. 2371 เมื่อเสร็จสิ้นสงครามปราบกบฏเจ้าอนุแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เมืองโขงเจียม ซึ่งเคยขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองจำปาสักมาขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ เป็นผลให้เมืองเขมราฐมีบทบาทมากขึ้น เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองคำเขื่อนแก้วในปี พ.ศ.2388 เมืองอำนาจเจริญในปี พ.ศ. 2401 ก็โปรดเกล้าให้ขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ เช่นกัน


  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เพื่อให้บังเกิดผลตามที่กำหนดใน “ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ” มณฑลอีสานถูกแบ่งออกเป็น 8 บริเวณ สำหรับบริเวณอุบลราชธานี มีอยู่ 3 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ และเมืองยโสธร แต่ละเมืองมีพื้นที่ขึ้นตรงหลายอำเภอดังที่ปรากฏว่าในปี พ.ศ.2445 เมืองเขมราฐ มีพระเขมรัฐเดชธนีรักษ์ (คำบุ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง และมีอำนาจอยู่ในปกครอง 6 อำเภอ คืออำเภออุทัยเขมราฐ อำเภอประจิมเขมราฐ อำเภออำนาจเจริญ อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอโขงเจียม และอำเภอวารินชำราบ อันแสดงให้เห็นว่าเมืองเขมราฐ ยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาก
    ต่อมาใน พ.ศ. 2452 ได้มีการปรับปรุงการปกครองภายในบริเวณเมืองอุบลราชธานีอีก ครั้งหนึ่ง เมืองเขมราฐถูกลดฐานะเป็นอำเภอ และรวมอำเภออุทัยเขมราฐ และอำเภอประจิมเขมราฐ เข้าด้วยกันเป็นอำเภออุทัยเขมราฐ ขึ้นกับเมืองยโสธร แต่ก็ยังเป็นบริเวณอุบลราชธานีอยู่เหมือนเดิม ในราชการพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี กับมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2455 และมีการปรับปรุงให้เหมาะสม เมืองยโสธรถูกยกเลิกไป เมืองอุทัยเขมราฐ ก็มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน



ข้อมูลทั่วไปอำเภอเขมราฐ อำเภอเขมราฐ เป็นอำเภอชายแดน อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดอุบลราชธานี มีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ระยะห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 105 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 750 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 123 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 526.75 ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือ จรดแนวฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณตรงข้ามเมืองสองคอนแขวงสะหวันเขต ประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นแนวยาวตามลำน้ำโขง ทิศตะวันออก จรดแนวฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณตรงข้ามเมืองคอนพะเพ็ง แขวงสาละวัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอนาตาล และอำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ


  การปกครองท้องที่ อำเภอเขมราฐแบ่งการปกครองท้องที่ออกเป็น 9 ตำบล 123 หมู่บ้าน คือ 1) ตำบลเขมราฐ 22 หมู่บ้าน 2) ตำบลขามป้อม 17 หมู่บ้าน 3)ตำบลหัวนา 15 หมู่บ้าน 4) ตำบลหนองผือ 14 หมู่บ้าน 5) ตำบลนาแวง 13 หมู่บ้าน 6) ตำบลหนองนกทา 13 หมู่บ้าน 7) ตำบลแก้งเหนือ 10 หมู่บ้าน 8) ตำบลหนองสิม 10 หมู่บ้าน 9) ตำบลเจียด 9 หมู่บ้าน
    การปกครองท้องถิ่น มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มี 10 แห่ง เทศบาลตำบล 5 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 5 แห่ง คือ1) เทศบาลตำบลเขมราฐ 2) เทศบาลตำบลเทพวงศา 3) เทศบาลตำบลขามป้อม 4) เทศบาลตำบลหนองผือ 5) เทศบาลตำบลหัวนา 6) องค์การบริหารส่วนตำบลเจียด 7) องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสิม 8)องค์การบริหารส่วนตำบลแก้งเหนือ 9) องค์การบริหารส่วนตำบลนาแวง 10) องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนกทา ที่ว่าการอำเภอเขมราฐ ตั้งอยู่ถนนอรุณประเสริฐ (อ.เขมราฐ-อำนาจเจริญ) ในที่ดินสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ 63 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา (หนังสือสำคัญเลขที่ อบ.1494 ออกให้ ณ วันที่ 9 เมษายน 2540)
    จังหวัดอุบลราชธานี เคยจัดงานฉลอง 200 ปี อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 -15 กรกฏาคม 2535 โดยมีนายสายสิทธิ์ พรแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับทุกภาคส่วน จัดงานได้ยิ่งใหญ่ ผู้ประสานงานสำคัญคือ นายชาติสง่า โมฬีชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะ มีการประชุมวางแผน กำหนดขั้นตอน และมอบหมายงานอย่างชัดเจน ทำให้การจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น และยิ่งใหญ่.. หากย้อนไปพอจำได้ว่า พิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทาน พิธีเปิดงานขบวนแห่วัฒนธรรมจากทุกอำเภอ การจัดทำหนังสือที่ระลึก 200 ปี อุบลราชธานี การพิมพ์เอกสารตำรายาโบราณ การอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือน และจัดถนนทุกสายให้สวยงามตลอดเดือน/ตลอดปี และอีกหลายกิจกรรมที่ชาวอุบลราชธานี มีส่วนร่วมในการจัดงานฉลอง 200 ปี อุบลราชธานี เมื่อปี 2535
    ในโอกาสอันใกล้นี้ เมืองเขมราษฏร์ธานี จะครบ 200 ปี ในปี 2557 ชาวเขมราฐพร้อมที่จัดงานเพื่อสืบสานตำนานประวัติศาสตร์เมืองสำคัญในอดีต หรือจังหวัดอุบลราชธานีจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการจัดงานอย่างไร...ฝาก เรียนผู้เกี่ยวข้องทราบ...และขอนำภาพเก่าจากอดีต ปัจจุบัน ในความทรงจำ เพื่อประชาสัมพันธ์..ก่อนจะถึง ปีพ.ศ. 2557คับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น