วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

เขมราฐ

นัยว่ามาไกลเกือบจะถึงชายแดนของจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว แล่นรถเลยต่อไปอีกสักหน่อยก็คงไม่มีอะไรเสียหาย แถมจะมีแต่ได้กับได้อีกต่างหาก เพราะเส้นทางเลียบแม่น้ำโขงสู่สุดแดนเมืองดอกบัวที่อำเภอเขมราฐ มีสิ่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนจะพลาดไม่ได้ นั่นก็คือ การกราบนมัสการพระพุทธรูป 3 ขนาด ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัด 3 แห่ง ริมแม่น้ำโขงนั่นเองเขมราฐ เป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีเขตแดนทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำโขง ตรงข้ามแขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนทิศตะวันตกติดกับอำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญในอดีต เขมราฐ ไม่ใช่เมืองเล็ก หากแต่เป็นรัฐที่มีความมั่นคง ย้อนอดีตตั้งแต่ เขมราฐ ยังเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ว่าเดิมชื่อ กงพะเนียง ชาวบ้านประกอบอาชีพประมงในแม่น้ำโขงและหาของป่าขาย จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านกงพะเนียงขึ้นเป็นเมืองเขมราษฎร์ธานี ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2357 ทรงแต่งตั้งให้อุปฮาด ลูกชายเจ้าเมืองอุบล เป็นพระเทพวงศาเจ้า(ก่ำ) ปกครองเขมราษฎร์ธานีเป็นคนแรก“เขมราษฎร์ธานี หรือ เขมราฐ แปลว่า เมืองแห่งความเกษมสุข เดิมเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญมาก ต่อมาเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป เขมราฐจึงถูกลดฐานะเป็นเพียงอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองยโสธร จนปี 2455 ถูกยกเลิกให้มาขึ้นกับอุบลราชธานีจนถึงทุกวันนี้”ได้ยินชื่อ เขมราฐ หลายคนอาจจะคุ้นหู เหมือนเคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ชื่อเขมราฐไปพ้องกับชื่อเมืองเขมรัฐที่อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า และเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ซึ่งแต่เดิมนั้นทั้ง 2 เมืองเคยเป็นของไทย แต่จากการได้เปรียบเสียเปรียบทางดินแดน จึงทำให้ทั้ง 2 เมืองนั้นตกเป็นของประเทศเพื่อนบ้านดังปัจจุบัน“บ้านเรือนทรงฝรั่งเศสที่เห็นในเมืองเขมราฐ เป็นผลมาจากการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในยุคหนึ่ง ส่วนมากเป็นบ้านของลูกหลานเจ้าเมืองเขมราฐ สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสนใจเมืองเขมราฐอีกจุดหนึ่งก็คือ พระพุทธรูป 3 ขนาด ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก นั่นก็คือ พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น วัดอูบมุง, พระเจ้าใหญ่องค์แสน วัดโพธิ์ และ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดปากแซง“คนโบราณจะชั่งน้ำหนักจากการคำนวณ มีหลักหมื่น สิบหมื่นเท่ากับแสน ถ้าเลยแสนไปจะเรียกว่า ตื้อ แล้วในเมืองเขมราฐก็มีพระสำคัญ 3 องค์ ที่มีขนาดต่างกัน เลยมีชื่อเรียกต่างกันไปตามขนาด”หากขับรถมาจากบ้านสองคอนสามพันโบก จะผ่านวัดปากแซงก่อน วักปากแซง หรือวัดพระโต สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.1180 ภายในมีพระพุทธรูปที่สำคัญ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวลาว นั่นก็คือ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางมารสะดุ้ง มีขนาดหน้าตัก 2.90 เมตร สูง 4.36 เมตร สร้างโดยพระยาเขี้ยวเจ็ดถัน ชาวบ้านเชื่อกันว่า ใครมานมัสการขอพรสิ่งใดก็จะประสบผลสำเร็จ จนทำให้มีประเพณีนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อระหว่างวันขึ้น 9 ค่ำ ถึงขึ้น 15 ค่ำ ของเดือน 3 ทุกๆ ปีในตัวเมืองเขมราฐ มีวัดโพธิ์ ที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่องค์แสน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 1.09 เมตร สูงรวมเกตุ 1.59 เมตร สร้างด้วยอิฐโบราณ ถือด้วยน้ำเกสรดอกไม้ผสมน้ำเปลือกไม้ ตามภูมิปัญญาของคนโบราณ ว่ากันว่าพระเจ้าใหญ่องค์แสนสร้างมาก่อนพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเขมราฐมาช้านาน และเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานีส่วน พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น (พระเจ้าอูบมุง) ประดิษฐานอยู่ภายในวัดอูบมุง ห่างจากตัวเมืองเขมราฐออกไปประมาณ 6 กิโลเมตร พระเจ้าอูบมุง เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน พบครั้งแรกที่วัดร้าง และที่เรียกว่าอูบมุงก็เพราะพระพุทธรูปที่พบประดิษฐานอยู่ในโพรงทรงสถูปโบราณ ซึ่งสมัยก่อนเรียกสิ่งที่ใช้มุงพระว่า อูบ จึงเรียกว่าพระอูบมุง เป็นพระคู่บ้านชาวเขมราฐอีกองค์หนึ่งพระเจ้าใหญ่ทั้ง 3 องค์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้ชาวเขมราฐ รวมถึงเพื่อนบ้านในประเทศลาวพบแต่ความผาสุก ในช่วงวันสำคัญทางศาสนา วัดทั้ง 3 แห่งนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ดำรงตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีตลอดมา

4 ความคิดเห็น:

  1. ประวัตรหน้าสนใจดี
    อานนท์

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2552 เวลา 22:15

    ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล

    ตอบลบ
  3. อยากไปเที่ยวอยู่พอดีเลย ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ22 กันยายน 2552 เวลา 15:37

    อยู่บ้านอูบมุงคะเชญมาเที่ยวสงกรานต์สนุกมากมาไหว้พระเจ้าใหญ่องค์หมื่นไห้เป็นศิริมงคลแก่ชีวิตคะ

    ตอบลบ